Tag Archives: การทำไร่ชาของชาวญี่ปุ่น

วัฒนธรรมการชงชาของคนญี่ปุ่นที่มีแบบแผนมายาวนาน

การดื่มชาเป็นวัฒนธรรมจีนที่เผยแพร่เข้ามาในญี่ปุ่นโดยพระสงฆ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 พระเอไซได้นำชาผงมัตชะจากจีนเข้ามาเผยแพร่ในฐานะยารักษาโรค ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระในวัดเซนได้กำหนดแบบแผนการดื่มชาขึ้นมา แบบแผนงานดื่มชาในวัดเซนแพร่หลายออกไปในหมู่นักรบและขุนนาง จนกลายมาเป็นต้นแบบของพิธีชงชา ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 – 16  ท่านมุระตะ จุโค ท่านทะเคะโนะ โจโอ และท่านเซนโนะ ริคิว ได้พัฒนาแบบแผนพิธีชงชาแบบวะบิชะขึ้นมาเน้นความงามแบบเรียบง่ายและการสร้างความผูกพันทางใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างเจ้าภาพกับแขก พิธีชงชาแบบวะบิชะนี้ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ชนชั้นสูงสมัยนั้นจะนิยมดื่มชากันในงานเลี้ยงสังสรรค์

โดยมีการดื่มชาก่อนอาหารหลัก และเมื่อรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีการเล่นเกมทายชาจนได้มีการพัฒนาไปเป็นพิธีชงชาสำหรับคนรักการดื่มชา ซึ่งพิธีชงชาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ วาบิชะ เป็นพิธีชงชาแบบเรียบง่ายทั้งพิธีและสถานที่ ก่อตั้งโดยพระจากนิกายเซนชื่อว่าทาเกะโนโจโอ ต่อมาได้ถูกพระเซนโนะริคิวพัฒนาจนเป็นพิธีแบบในปัจจุบัน ทั้งวางรูปแบบและกำหนดวิธีการชงชาต่างๆยึดหลักที่ว่าต้องเรียบง่ายและจริงใจระหว่างทำพิธี

พิธีชงชายังแสดงแบบแผนของสมบัติผู้ดีตามประเพณีญี่ปุ่น เมื่อแขกผู้ใหญ่เดินนำหน้าแขกคนอื่นเข้ามาในห้องดื่มน้ำชา แขกผู้ใหญ่ต้องกล่าวชมเชยการตกแต่งห้อง อันได้แก่ การจัดดอกไม้ ภาพแขวนผนัง หรือเครื่องใช้ในการชงชาที่เจ้าของบ้านยกออกมา ก่อนการดื่มน้ำชาแขกต้องกินขนมที่เจ้าของบ้านยกออกมาโดยเริ่มที่แขกผู้ใหญ่จะถือขนมไว้ในมือแล้วบอกแขกคนอื่นๆว่าขอโทษที่ข้าพเจ้าต้องกินก่อน เมื่อกินขนมเสร็จก็เริ่มดื่มน้ำชาโดยวางถ้วยชาไว้บนฝ่ามือซ้าย หมุนถ้วยเข้าหาตัว 2 รอบ  จึงยกขึ้นจิบ แล้วยกดื่มอีกจนได้รสชา เสร็จแล้วก็ใช้ผ้าที่เตรียมมาเช็ดรอยปากที่ขอบถ้วย กล่าวชมรสชาติชาและส่งถ้วยให้แขกคนต่อไปดื่มชาที่เหลือในถ้วยนั้นจนครบ

ชาที่นิยมดื่มและใช้ในพิธีชงชานั้นคือชาเขียว

การทำไร่ชาของชาวญี่ปุ่นจะนิยมทำกันตามเชิงเขาที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา และในแต่ละพื้นที่ก็จะให้รสชาติชาที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและคุณภาพของดิน ซึ่งส่วนที่นำมาทำชาคุณภาพดีนั้นจะเป็นส่วนของยอดอ่อนที่อยู่บนสุด และเครื่องมือการเก็บชาที่ดีที่สุดคือมือมนุษย์เรา หลังจากนั้นก็นำชามาแปรรูป ซึ่งจะมีหลายแบบ ทั้งการตากแห้ง การหมัก การอบด้วยไอน้ำเดืือด การนำมาคั่วไปจนถึงการนำมารีดใบให้แห้ง ทำให้ยุ่ย บิดงอ เพื่อให้เกิดกลิ่นหอมของชาออกมา